เมื่อเร็วๆ นี้ เพจองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันและMana Nimitmongkol  ได้เผยแพร่บทความเขียนโดยนายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT  มีสาระสำคัญความว่า “โกงไม่อายใคร ท้าทายไม่เกรงกลัว” ปรากฏชัดมากขึ้นในปีที่ผ่านมาโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมราชทัณฑ์และ ป.ป.ช. เป็นหน่วยงานที่น่ากังขา ขณะที่ตำรวจ ป.ป.ป. ก้าวมาเป็นความหวังใหม่ พฤติกรรมฉ้อฉลแบบย้อนยุคของนักการเมืองกำลังหวนคืน กลไกรัฐหลงอำนาจและซื้อขายได้กลายเป็นโอกาสให้เอกชนบางรายเอาเปรียบสังคม ดังปรากฏพบความเกี่ยวข้องกับ 10 คดีคอร์รัปชันหรือกรณีคาบเกี่ยวกับการทุจริตในรอบปี 2566  ประกอบด้วย

  1. คดีส่วยสินบนกรมอุทยานแห่งชาติ อดีตอธิบดีถูกจับพร้อมหลักฐานซองเงินค่าวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่งและค่ารักษาเก้าอี้ เงินส่วย เงินทอน และกระเช้าของขวัญจำนวนมาก กรมนี้มีงบประมาณปีละ 1 หมื่นล้านบาท บุคลากร 4 หมื่นคน ดูแลผืนป่า 73.61 ล้านไร่
  2. คดีทุนจีนสีเทา อาชญากรรมข้ามชาติมีเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองสนับสนุน ช่วยเหลือ ปกป้อง นำไปสู่การเปิดโปงเรื่องอื้อฉาวอื่นๆ เช่น กรณีตู้ห่าวและผับจินหลิง กรณีนายหยู ชิน ซี ที่ตั้งสมาคมเถื่อนเป็นช่องทางจัดหาวีซ่าให้คนจีนเข้าประเทศมากถึง 7 พันคนในช่วงปี 2563 – 2564 กรณีสารวัตรซัว นายตำรวจพัวพันบ่อนออนไลน์เครือข่ายใหญ่ กรณีบ่อนมินนี่และเว็บพนันออนไลน์888 ที่มีนายพลตำรวจสายไอทีมีเอี่ยว จนสังคมสงสัยว่า การที่แก๊งคอลล์เซ็นเตอร์ระบาดเต็มบ้านเต็มเมืองได้เพราะนายตำรวจหลายคนไปรับเงินจากขบวนการจีนเทาด้วย ใช่หรือไม่
  3. คดีโกดังพลุเถื่อนระเบิดที่บ้านมูโน๊ะ นราธิวาส ทั้งที่ตั้งอยู่กลางตลาดและเป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษของทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง กอ.รมน. ศอ.บต. จึงเชื่อว่างานนี้ต้องมีคนรับส่วยกินสินบนค่าปิดตามองไม่เห็นแน่นอน ล่าสุดเจ้าของโกดังต้องคดี แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดถูกแจ้งข้อหา คนตาย 11 ราย บาดเจ็บ 389 ราย เกิดความเสียหายต่อบ้านเรือน 649 หลัง โรงเรียน 4 หลัง ยานพาหนะของชาวบ้านอีกจำนวนมาก แม้ทางการระบุมูลค่าความเสียหายไวเพียง 146 ล้านบาท แต่ค่าเสียหายจริงและความบอบช้ำสำหรับชาวบ้านแล้วประเมินค่ามิได้
  4. คดีดัง 2 ส.ว. กับพฤติกรรมใช้อำนาจฉ้อฉล ได้แก่ คดี ส.ว. ซุกกิ๊ก ก่อเรื่องฉาวซ้อมทหารรับใช้หญิงยศสิบโท สะท้อนการเอาเปรียบหลวงของเครือข่ายผู้มีอำนาจในวงการทหาร ตำรวจและการเมืองที่ให้การอุปถัมภ์พวกพ้องอย่างน่ารังเกียจ ถึงปัจจุบันเรื่องเงียบหายไป ส.ว. คนดังไม่มีความผิด และอีกคดีคือ ส.ว. ชื่อดังถูกอัยการสั่งฟ้อง 6 ข้อหาพัวพันเครือข่ายอาชญากรข้ามชาติและธุรกิจมืดชายแดนพม่าช่วงแรกที่เกิดคดี ประชาชนให้ความสนใจติดตามเป็นอย่างมาก นอกจากตำรวจแล้วยังมีหน่วยงานอื่นเข้าร่วมสอบสวนมากเป็นประวัติการณ์ เช่น ป.ป.ช. สตง. ดีเอสไอ กรมสรรพากร ป.ป.ง. ป.ป.ท. และกระทรวงมหาดไทย
  5. คดีกำนันนก นักธุรกิจท้องถิ่นผู้มีอิทธิพล ช่วง 12 ปี ได้งานจากรัฐ 1,200 โครงการ มูลค่าราว 7 พันล้านบาท คดีนี้พัวพันการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ รถบรรทุกน้ำหนักเกิน ธุรกิจสีเทา ทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง การฟอกเงิน และเครือข่ายบ้านใหญ่ในจังหวัด
  6. คดีหมูแช่แข็งเถื่อน ลักลอบนำเข้าต่อเนื่องมา 3 ปีนับหมื่นตู้คอนเทนเนอร์ รัฐขาดรายได้จากภาษีไม่น้อยกว่า 2.5 พันล้านบาท แต่กระทบต่อความอยู่รอดของผู้เลี้ยงหมูและอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูอย่างรุนแรงชัดเจน คดีนี้พัวพันระหว่างพ่อค้านำเข้า ห้างค้าส่ง โรงงานแปรรูปอาหาร แต่ที่หลบในมุมมืดคือ นักการเมืองใหญ่อดีต รมช. สองกระทรวง กับอีก 3 หน่วยงานรัฐคือ กรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ กรมประมง  
  7. กรณีลูกเขยนายชาดา รมช. มหาดไทยถูกจับเพราะเรียกรับเงิน 6 แสนบาทจากผู้รับเหมาฯ งานนี้สังคมอยากรู้ว่า รัฐบาลจะกำจัดผู้มีอิทธิพลหรือกำจัดคู่แข่งของผู้มีอิทธิพลได้ก่อนกัน
  8. คดีเสาไฟกินรี และโครงการประเภท “คิด ทำ ทิ้ง” ทั่วประเทศ เช่น เครื่องออกกำลังกาย เครื่องกรองน้ำและโซล่าเซลล์ ลานออกกำลังกายชุมชน เครื่องผลิตน้ำประปา เสาไฟโซล่าเซลล์ ฯลฯ คดีเสาไฟกินรีเฉพาะที่ อบต. ราชาเทวะเพียงแห่งเดียว จัดซื้อไปแล้ว 871 ล้านบาท ทำให้ประเมินว่าทั่วประเทศมีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท แต่มากเท่าไหร่นั้นยากจะระบุชัด เพราะจัดซื้อโดยหน่วยราชการและ อปท. ทั่วประเทศ โดยใช้ชื่อโครงการจัดซื้อหรือเรียกชนิดสินค้าแตกต่างกันอย่างมาก จนปัจจุบันการจัดซื้อเสาไฟกินรียังทำได้ไม่มีข้อห้าม คดีที่ ป.ป.ช. สอบสวนตั้งแต่ปี 2558 ยังไร้บทสรุป สำนักงบประมาณ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ต่างไม่มีข้อกำหนดใดออกมา
  9. กรณีส่วยทางหลวง สติ๊กเกอร์และขบวนการรีดไถรถบรรทุก มูลค่ากว่าหมื่นล้านบาทต่อปี ทั้งตำรวจทางหลวง กรมทางหลวง ตำรวจท้องที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จนถึงอัยการจังหวัดบางคน
  10. กรณีโกงนมโรงเรียน (งบประมาณ 4 หมื่นล้านบาท) อาหารกลางวันเด็ก (งบประมาณ 2.85 หมื่นล้านบาท) ตำราเรียน (งบประมาณ 5.18 พันล้านบาท)

ทั้งนี้ นายมานะระบุว่า ทุกเรื่องมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของทุกคนจึงขอเชิญชวนประชาชนช่วยกันเฝ้าระวัง สอดส่อง เพราะจากคดีดังกล่าวสะท้อนภาพชัดเจนว่า ห่วงโซ่คอร์รัปชันโกงกินร่วมกันระหว่างข้าราชการ-นักการเมือง-กลุ่มทุนมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ยิ่งการที่คนของรัฐกลับมีส่วนร่วมในห่วงโซ่คอร์รัปชันเสียเอง ยิ่งจำเป็นต้องอาศัยเจตน์จำนงของผู้นำประเทศเข้มงวด เคี่ยวกรำ กำราบ เพราะหากก้าวข้ามคอร์รัปชันไม่ได้ รัฐบาลคิดทำอะไรก็ยากจะสำเร็จ เพราะคนจ้องจะคดโกงมีมาก จนสังคมไม่ไว้วางใจ ไม่ร่วมมือ

 

 “เพื่อหยุดวิกฤตนี้ รัฐบาลต้องใส่ใจจริงจัง ต่อสู้เชิงรุกโดยประกาศให้การต่อต้านคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ จัดตั้งวอร์รูมโดยนายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะทำงานร่วมกับภาคประชาชน”  เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าวและว่า ขนานกันไปยังจำเป็นต้องอาศัยพลังประชาชนร่วมกันติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังเพื่อให้เกิดผลในทางป้องกัน ทั้งนี้ จาก 10 คดีคอร์รัปชัน สามารถใช้เครื่องมือจับโกงโดยเครื่องมือหลักยังเป็น ACTAi (https://actai.co)  ดังนี้

 

กลุ่มแรก คดีกำนันนก, คดีลูกเขยนายชาดา, คดีก่อสร้างโรงพักและแฟลตตำรวจ, โครงการรถไฟทางคู่, การขยายอาคารผู้โดยสารสนามบิน, คดีเสาไฟกินรี เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง สามารถสืบค้นข้อมูลโครงการที่ “จับโกงจัดซื้อจัดจ้าง” (https://actai.co) และ จับโกงงบ อบจ. https://localbudgeting.actai.co/

 

กลุ่มที่สอง คดีหมูแช่แข็งเถื่อน, คดีสวยสินบนกรมอุทยาน, คดีจับลูกเขยนายชาดา และคดีนักการเมืองครอบครองที่ดินผิดกฎหมาย เกี่ยวข้องกับการเอื้อประโยชน์ให้กับเครือข่าย ความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และข้อมูลนักการเมือง ท่านสามารถสืบค้นความสัมพันธ์เชิงเครือญาติผ่านนามสกุล ได้ผ่านเครื่องมือ “จับโกงเครือข่ายความสัมพันธ์” (http://bit.ly/actai-connection) และเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ประวัติการทำงาน การโยกย้ายตำแหน่ง ข้อมูลบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน และความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ผ่านเครื่องมือ “ฐานข้อมูลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับสูง” (https://poldata.actai.co/) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเพิ่มเติมข้อมูลในระบบ

 

กลุ่มที่สาม กรณีโกงในโรงเรียน ทั้งครู ผู้ปกครอง นักเรียนสามารถเรียนรู้และมีส่วนร่วมในการส่งเสริมธรรมาภิบาลในโรงเรียนผ่านการลงมือทำ ด้วยการใช้เครื่องมือ “โรงเรียนโปร่งใส” (https://schoolgov.actai.co/)

 

นอกจากนั้น เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ยังได้ตั้งประเด็นถึง เรื่องน่าสงสัยในกระบวนการลงโทษคนโกง ประกอบด้วย (1) กรมราชทัณฑ์ลดโทษ ขออภัยโทษให้นักโทษคดีคอร์รัปชัน รวมถึงปฏิบัติต่อผู้ต้องขังอย่างเท่าเทียม ไม่มีอภิสิทธิ์ชน เช่นกรณีชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ  (2) หลายคดีที่ ป.ป.ช. ชี้ว่ามีมูลความผิดแต่อัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือ สตง. เห็นว่าไม่ผิด หลายคดีที่ศาลตัดสินว่าผิดแต่ให้รอลงอาญา และหน่วยงานต้นสังกัดของจำเลยทำแค่สั่งลงโทษทางวินัยไม่ร้ายแรง (3) คดีนายอิทธิพล คุณปลื้ม หนีไปต่างประเทศ หลังป.ป.ช.ส่งสำนวนถึงอัยการล่าช้ามาก (4) คดีก่อสร้างโรงพักและแฟลตตำรวจ นักการเมืองพ้นผิด แต่ตำรวจติดคุก 8 นาย เช่นเดียวกับ (5) คดีรุกป่าเขาใหญ่ นายสุนทร นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ พ้นผิด แต่ข้าราชการติดคุก (6) นักการเมืองครอบครองที่ดินผิดกฎหมาย แม้หลายคนโดนลงโทษแล้ว แต่ยังเหลืออีกมากกว่า 10 คดีในมือ ป.ป.ช. เช่น ครอบครัวนักการเมืองใหญ่รุกที่ดินการรถไฟที่เขากระโดง บุรีรัมย์

ปิดท้ายด้วย กรณีต้องจับตาในปี 2567 การประมูลงานจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐโครงการขนาดใหญ่ ได้แก่  (1) การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ล้มและเลื่อนยาวเพราะเจ้าหน้าที่รัฐทำเรื่องไม่ชอบมาพากลซ้ำซ้อน (2) สัมปทานรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จบการประมูล 5 ปีแล้วแต่เอกชนผู้ชนะยังขอเจรจาอยู่แล้วแต่เอกชนผู้ชนะยังขอเจรจาอยู่ โดยไม่เปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้สิ่งที่เปลี่ยนไป ถือเป็นการทำลายหลักพื้นฐานการประมูลงานอย่างเป็นธรรม (3) โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน 1.79 แสนล้านบาท ที่ล่าช้า ยืดเยื้อ มากข้อขัดแย้ง (4) สินบนข้ามชาติไม่คืบหน้า สินบนโรลส์รอยซ์ สวนปาล์มน้ำมันที่อินโดนีเซีย เหมืองทอง   (5) โครงการรถไฟทางคู่ที่กำลังก่อสร้างและจะประมูลเพิ่มเติม (6) การขยายอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ เฟสสอง

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME