เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่อำเภอแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย คณะทำงานด้านสิทธิสถานะบุคคล มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) นำโดย นางเตือนใจ ดีเทศน์ (ครูแดง) กรรมการที่ปรึกษามูลนิธิฯ และอดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จ.เชียงราย ได้พาผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นผู้เฒ่ากลุ่มชาติพันธุ์อาข่า จากหมู่บ้านป่าคาสุขใจ ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย จำนวน 6 คน กลุ่มชาติพันธุ์จีนยูนนานจากหมู่บ้านใหม่สันติ ต.แม่สลองนอก และบ้านห้วยไร่สามัคคี ต.แม่ฟ้าหลวง อีก 21 คน รวมจำนวน 27 คน ไปทำการแปลงสัญชาติเป็นสัญชาติไทยอย่างเต็มตัว

 

โดยแต่ละคนมีอายุมาก เช่น นายอายู แย่แบวกู่ อายุถึง 93 ปี เข้ามาในประเทศไทยในปี 2508 นางหมี่นะ เบเชอกู่ อายุ 80 ปี เข้ามาเมื่อปี 2509 ฯลฯ นอกจากนี้บางคนมีประวัติที่น่าสนใจ เช่น นายเล่าเอ้อ แซ่เว่ย อายุ 86 ปี เกิดในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน และเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยพร้อมกับทหารจีนคณะชาติกองพล 93 เมื่อ 48 ปีก่อน แต่ตกสำรวจไม่ได้รับสัญชาติไทย หลังสงครามกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งนายปฤษฎางค์ สามัคคีนิชย์ นายอำเภอแม่ฟ้าหลวง ได้ให้เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกในการทำประจำตัวประชาชนสร้างความดีใจให้กับทุกคนอย่างมาก
นายอาเจอะ หม่อปอกู่ ผู้ใหญ่บ้านป่าคาสุขใจ กล่าวว่า ในหมู่บ้านยังมีผู้อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปอีก 35 คนซึ่งได้ยื่นเรื่องให้ทางจังหวัดพิจารณาเรื่องสัญชาติเพิ่มเติม และยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาอีกหลายราย ซึ่งผู้เฒ่าเหล่านี้ถือว่าอาศัยอยู่ในประเทศไทยมานาน บางคนนานเกือบ 60 ปี แต่เนื่องจากอยู่ตามป่าเขาและสูงวัยจึงเดินทางไปไหนไม่สะดวกทำให้ไม่ได้รับสิทธิเหมือนคนไทย ดังนั้นการได้สัญชาติจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เช่น ได้เบี่้ยยังชีพผู้สูงอายุ บัตรคนพิการ มีสิทธิเลือกตั้ง เป็นต้น
 
 
ทางด้านนางเตือนใจ กล่าวว่า ผู้เฒ่ากลุ่มเหล่านี้ไม่ได้เกิดในประเทศไทยแต่อาศัยอยู่มานานแล้วซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้กำหนดว่าผู้มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศเกิน 5 ปี และถือบัตรต่างด้าวและใบสำคัญที่อยู่ มีอาชีพมั่นคงพึ่งตัวเองได้ มีความรู้ภาษาไทย มีความประพฤติดีผ่านการตรวจสอบจากหลายหน่วยงาน เช่น ตำรวจ ป.ป.ส.ฯลฯ สามารถขอแปลงสัญชาติไทยได้ กระทั่งยุคของ พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา อดีต รมว.กระทรวงมหาดไทย ได้เล็งเห็นความสำคัญจึงยกเลิก 3 ข้อหลังออกและให้รู้ภาษาถิ่นส่วนความประพฤติก็มีผู้รับรอง จากนั้นให้ปลัดกระทรวงทำหนังสือเวียนไปทั่วประเทศทำให้ผู้เฒ่าเหล่านี้เได้ยื่นขอแปลงสัญชาติตามมาตรา 10 พ.ร.บ.สัญชาติฯ ส่วน จ.เชียงราย มีความร่วมมือเป็นอย่างดีกับภาคประชาสังคมจึงดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและถือเป็นกลุ่มกรณีศึกษาที่ได้รับสัญชาติไทย
 
 
น.ส.เตือนใจ กล่าวด้วยว่า ตนจึงได้ตามเรื่องโดยเข้าพบกับนายบรรจบ จันทรัตน์ รองอธิบดีกรมการปกครอง พร้อมแจ้งว่า ผู้เฒ่าเหล่านี้ได้มีการปฏิญานตนจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์แล้วในดือน เม.ย.2566 และได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่าได้มีการพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้แปลงสัญชาติเป็นไทยได้แล้วเมื่อปี 2566 ทำให้เมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา กรมการปกครองได้มีหนังสือถึง จ.เชียงราย มีผู้ได้รับสัญชาติไทยตามรายชื่อดังกล่าวในจังหวัด 45 คน ซึ่งใช้เวลาเพียง 7 วันก็มีการลดขั้นตอนและดำเนินการในครั้งนี้ดังกล่าว ทำให้แต่ละคนดีใจเพราะอยู่ในประเทศไทยนาน 30-60 ปี
 
 
โดยบางคนเป็นอดีตและครอบครัวของทหารจีนคณะชาติ จึงถือได้ว่า จ.เชียงราย มีการตั้งคณะทำงานที่มีประสิทธิภาพ ตนจึงคาดหวังว่านายอนุทิน ชาญวีระกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะให้ความสำคัญเพราะหากไม่ลดขั้นตอนเช่นนี้แต่ละรายจะใช้เวลามากกว่า 3 ปี จึงจะแล้วเสร็จ และตัวเลขเมื่อปี 2563 ก็พบมีผู้เฒ่าไร้สัญชาติทั่วประเทศมากถึงกว่า 110,000 คน
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME