วันที่ 19 สิงหาคม 2566 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานการดำเนินกิจกรรมโครงการยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชน การประกวดผ้าลายพระราชทาน ผ้าลายดอกรักราชกัญญา และงานหัตถกรรม โดยมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นายกัมปนาท จักรวาล วิเวศ ศรีพุทธา หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม คณะผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมงาน
 
ในการนี้ นายวิทยา ชุมภูคำ พัฒนาการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นายปรีชา ปวงคำ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน ได้เข้าร่วมงาน ดังกล่าว จังหวัดเชียงราย โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงราย ได้ประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ส่งผลงานประเภทผ้าและงานหัตถกรรมเข้าร่วมการประกวดในครั้งนี้ จำนวนทั้งสิ้น 154 ชิ้น แยกเป็น ประเภทผ้า จำนวน 114 ผืน ประเภทงานหัตถกรรม จำนวน 40 ชิ้น
 
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า “นับเป็นความโชคดีของประชาชนคนไทย ที่ได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่พระองค์ทรงมีความรักความเมตตาและความห่วงใย ทรงได้ทุ่มเทพระสติปัญญาและพระวรกายเพื่อที่จะ “สืบสาน รักษาและต่อยอด” พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทำให้ชีวิตของคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงได้สืบสานงานแบ่งเบาพระราชภาระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการสืบสานและอนุรักษ์ผ้าไทย ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 3 ปีที่ผ่านมา 
 
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงได้ “สืบสาน รักษา และต่อยอด” รื้อฟื้นอนุรักษ์ผ้าไทยให้กลับมาอีกครั้ง โดยการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการผ้า ผู้ผลิตผ้า พัฒนาลายผ้าใหม่ ๆ ให้มีความทันสมัย เหมาะสมกับการสวมใส่ในทุกวัยและทุกโอกาส แสดงให้เห็นการฟื้นคืนชีพของผ้าไทยไปสู่ความรุ่งเรืองจนมาถึงปัจจุบัน ซึ่งปัจจัยสำคัญแห่งการขับเคลื่อนผ้าไทยที่พระองค์ได้พระราชทาน คือ “คน” ซึ่งประกอบไปด้วยข้าราชการ คณะทำงาน และพี่น้องประชาชน
 
กระทรวงมหาดไทย น้อมนำแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการเป็นแฟชั่นที่ยั่งยืน (Sustainable Fashion) โดยสวมใส่ผ้าไทยที่ย้อมสีธรรมชาติ ร่วมกันรณรงค์อนุรักษ์โลก ลดภาวะโลกร้อน และอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไทย สวมใส่ได้ทุกโอกาส ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ตามโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก”
นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวต่ออีกว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงริเริ่มผลักดันผ้าไทยให้เกิดแฟชั่นใหม่ที่ยังคงภูมิปัญญาเดิมของคนไทย โดยการพระราชทานแบบลายผ้า “ลายขอสิริวัณณวรี” ให้ประชาชนคนไทยได้นำไปพัฒนาและออกแบบจนเกิดเป็นความนิยมเกิดขึ้นในประเทศไทย 
 
ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ในผ้า แต่ยังเกิดขึ้นในทุกผลิตภัณฑ์ จากนั้นต่อมาได้พระราชทาน “ลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” “ลายดอกรักราชกัญญา” และลายบาติกพระราชทานอื่น ๆ อีกมากมาย ทรงแสดงให้เห็นว่าแฟชั่นลายใหม่นั้นทำให้เกิดเป็นที่นิยม เป็นที่ต้องการ สามารถสร้างรายได้สร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน โดยเริ่มจากให้ผู้ผลิตผ้า ผู้ประกอบการผ้า ออกแบบใส่จินตนาการเพื่อให้เกิดชิ้นงานใหม่ ดังคำว่า “ต่อยอด” ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำด้วยการปลูกฝ้าย ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ใช้สีธรรมชาติ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการส่งเสริม สนับสนุนให้มีความรู้ในการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 
 
การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ผ้าไทย เพื่อให้ได้รับการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความตระหนักให้รู้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนทอผ้า คนย้อมผ้า และอาจส่งไปถึงผู้สวมใส่หากใช้ สารเคมีในการย้อมผ้า อีกทั้งยังเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน
 
“การจัดประกวดลายพระราชทาน มีจุดประสงค์หลัก คือ การกระตุ้นให้ผู้ประกอบการผ้าได้มีการฝึกฝนพัฒนาทักษะในการทอผ้าอีกทั้งเป็นเวทีให้แสดงความเป็นศิลปหัตถกรรม สร้างความใส่ใจในผลิตภัณฑ์ชุมชน ส่งเสริมการแข่งขันและความเป็นเลิศ นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้ดีขึ้นต่อไป ดังนั้นผู้ที่เป็นข้าราชการในฐานะข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องทำหน้าที่เป็นคนเชื่อมโยงนำสิ่งที่ดีไปสู่พี่น้องประชาชน และช่วยผลักดันภารกิจหน้าที่ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้เกิดความสำเร็จ ด้วยการช่วยกันทำสิ่งที่ดี ด้วยความแน่วแน่มุ่งมั่นตั้งใจ มีแรงปรารถนา (Passion) ช่วยกันและกันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Fashion) พร้อมส่งเสริมผลักดันร่วมกับภาคีเครือข่าย ทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการก้าวเดินร่วมกันต่อไปโดยเฉพาะงานหัตถศิลป์หัตถกรรม 
 
โครงการผ้าไทย เพราะเราอยากเห็นคนไทยทุกคนมีความสุข บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง พร้อมช่วยกันดูแลสังคมดูแลโลกใบนี้ ทำให้ประชาชนคนไทยได้อยู่ในชุมชนยั่งยืน เพื่อให้ 76 จังหวัด ในประเทศไทยทุกจังหวัดเป็นประเทศไทยที่ยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
 
นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินโครงการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” โดยมีเป้าหมายกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ช่างทอผ้า และงานหัตถกรรม ทุกจังหวัด ทั่วประเทศ ร่วมโครงการฯ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชน โดยดำเนินการพัฒนาผ่านการประกวด ผ้าลายพระราชทาน แบ่งเป็น 4 กิจกรรม ประกอบด้วย 
 
1) กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ด้านผ้าไทย และงานหัตถกรรม (Coaching) “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” 
2) กิจกรรมประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และงานหัตถกรรม 
3) กิจกรรมบันทึกและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานผ้าและงานหัตถกรรมที่ได้รับการคัดเลือก 
และ 4) กิจกรรมสนับสนุนการพัฒนาผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ในการพัฒนาผ้าและงานหัตถกรรม 
 
โดยจะดำเนินการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ในพื้นที่ 4 ภูมิภาค ได้แก่ 
1) ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 19 สิงหาคม 2566 ณ โรงแรมมีเลีย เชียงใหม่ ตำบลช้างคลาน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 
2) ภาคกลาง จังหวัดราชบุรี ในวันที่ 26 สิงหาคม 2566 ณ โรงแรม ณ เวลา ตำบลดอนตะโก อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี 
3) ภาคใต้ จังหวัดสงขลา ในวันที่ 2 กันยายน 2566 ณ โรงแรมลากูน่า แกรนด์ โฮเทล แอนด์ สปา ตำบลพะวง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และ 
4) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุดรธานี ในวันที่ 10 – 11 กันยายน 2566
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กลุ่​มงาน​ส่งเสริม​การพัฒนา​ชุมชน​ สำนักงาน​พัฒนา​ชุมชน​จังหวัด​เชียงราย​

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME